วันพุธที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2550

เด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน

เด็กที่บกพร่องทางการได้ยิน
ระหว่างเด็กหูตึงและเด็กหูหนวก
ก่อนอื่นควรเข้าใจว่า เด็กที่สูญเสียการได้ยินอาจเป็นได้ทั้งเด็กหูตึงและเด็กหูหนวก ไม่ว่าจะเป็นการสูญเสียการได้ยินมาแต่กำเนิดหรือสูญเสียการได้ยินภายหลังก็ตาม
ถ้าเป็นเด็กหูหนวกจะหมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยิน 90 เดซิเบลขึ้นไป เป็นคนที่ไม่สามารถได้ยินเสียงพูดจากเครื่องช่วยฟัง และจำเป็นต้องเรียนรู้การสื่อความหมายด้วยภาษามือ
ส่วนถ้าเป็นเด็กหูตึงจะหมายถึงเด็กที่สูญเสียการได้ยินระหว่าง 26 - 89 เดซิเบล ซึ่งในทางโสตสัมผัสวิทยา (audiology) ยังแบ่งลำดับหูตึงอีกหลายระดับ ดังนี้
ระดับหูตึงเล็กน้อย 26 – 40 เดซิเบล
ระดับหูตึงปานกลาง 41 – 55 เดซิเบล

ระดับหูตึงมาก 56 – 70 เดซิเบล
ระดับหูตึงรุนแรง 71 – 90 เดซิเบล ซึ่ง คนหูตึงสามารถได้ยินเสียงพูดจากเครื่องช่วยฟัง และสามารถพัฒนาให้สื่อความหมายด้วยภาษาพูดได้
ลักษณะและพฤติกรรมของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
เนื่องจากเด็กที่บกพร่องทางการได้ยินมีปัญหาในเรื่องการสื่อความหมาย ทำให้ไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจภาษาได้ตามปกติ
ถ้าพิจารณาถึงการแสดงออกทางร่างกายโดยเฉพาะในวัยทารก เด็กจะไม่มีปฏิกิริยาต่อเสียงรอบๆตัว เมื่อโตขึ้นก็จะสังเกตพบว่า เด็กมักไม่ค่อยตอบคำถามในทันที มักใช้คำถามซ้ำ บางคนก็ชอบเอามือป้องหู ครอบหูไว้ เมื่อมีคนพูดด้วย ก็ชอบเอนศีรษะและขยับตัวเข้ามาใกล้มาก เพื่อให้ได้ยินเสียงหรือบางครั้งเด็กบ่นปวดหู และมักหายใจทางปาก บางคนมีการเคลื่อนไหวเร็ว ซนมากกว่าปกติ บางรายมีอาการทรงตัวผิดปกติ
เมื่อพิจารณาถึงการแสดงออกทางการพูดและการเขียนจะพบว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีปัญหาในทางการพูด บางกรณีพูดเสียงดังหรือเบาผิดปกติ มักหลีกเลี่ยงการสนทนากับผู้อื่น เมื่อพูดก็มักพูดด้วยประโยคไม่ต่อเนื่อง นอกจากนี้ เด็กบางคนอาจพูดไม่ได้หรือพูดไม่ชัด ซึ่งขึ้นอยู่กับการสูญเสียการได้ยินของเด็ก เด็กที่สูญเสียการได้ยินเล็กน้อย อาจพอพูดได้ ส่วนเด็กที่สูญเสียการได้ยินมาก หรือหูหนวก อาจพูดไม่ได้เลย หากไม่ได้รับการสอนพูดตั้งแต่ในวัยเด็ก นอกจากนี้ การพูดยังขึ้นอยู่กับอายุของเด็กเมื่อสูญเสียการได้ยิน กล่าวคือ หากเด็กสูญเสียการได้ยินแต่กำเนิด เด็กจะมีปัญหาในการพูดอย่างมาก แต่ถ้าเด็กสูญเสียการได้ยินหลังจากที่เด็กพูดได้แล้ว ปัญหาในการพูดก็จะน้อยกว่า
ส่วนในเรื่องการเขียนของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินนั้น พบว่า การเขียนประโยคของเด็ก จะมีลักษณะเขียนแบบกลับไปกลับมา วางผิดที่ ไม่เป็นไปตามลำดับประธาน กริยา กรรม เนื่องจากเด็กมีความชำนาญในการใช้ภาษามือ แต่ภาษามือเป็นภาษาโดดๆ ไม่มีระเบียบของถ้อยคำ นอกจากนี้ เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีความรู้เกี่ยวกับคำศัพท์ในวงจำกัด ทำให้การเรียนคำมีความผิดทางหลักภาษา ข้อผิดพลาดในด้านไวยกรณ์ของประโยคที่พบคือ การเขียนคำตกหล่น การเขียนสลับที่หรือการแทนที่ผิดตำแหน่ง การเรียงตำแหน่งของคำผิดพลาด หรือการเพิ่มคำที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ ยังพบว่า จำนวนประโยคที่เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินเขียน มักมีจำนวนน้อยกว่าปกติ และใช้คำง่ายๆ เขียนประโยคไม่ซับซ้อน ใช้ภาษาง่ายๆ และมักเขียนประโยคสั้นๆ
ลักษณะและพฤติกรรมที่แสดงออกทางอารมณ์และสังคม การปรับตัวเป็นปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการสื่อสารกับผู้อื่น หากเด็กสามารถสื่อสารได้ดี ปัญหาทางอารมณ์ก็ลดลง ทำให้เด็กสามารถปรับตัวได้ แต่ถ้าเด็กไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ดี ก็เกิดความคับข้องใจ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมของเด็ก นอกจากนี้ ยังพบว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินส่วนใหญ่ไม่ชอบเข้ากลุ่มกับใคร ชอบอยู่ตามลำพัง อ่อนไหวง่าย หวาดระแวง ขี้สงสัย ไม่ค่อยยอมรับความสนิทสนมของผู้อื่นอย่างฉันท์มิตร เมื่อพูดด้วยก็จะจ้องหน้านาน และเมื่อมีปัญหาก็จะเก็บไว้คนเดียว ปรับตัวเข้ากับคนอื่นค่อนข้างยาก เห็นแก่ตัว มีบางรายเท่านั้นที่สามารถปรับตัวเข้ากับผู้อื่นได้ดี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และการดูแลเอาใจใส่ของครอบครัว
ความบกพร่องทางการได้ยิน นอกจากจะมีผลต่ออารมณ์แล้ว ยังมีผลต่อจิตใจของเด็กอีกด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเด็กแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยการเรียนรู้จากพ่อแม่ และสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ในวัยทารก การพัฒนาทางอารมณ์และจิตใจของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ขึ้นอยู่กับทัศนคติและความรู้สึกของพ่อแม่ที่มีต่อตัวเด็ก ความรู้สึกของแม่ไม่ว่าจะเป็นความเสียใจ ความโกรธ ผิดหวัง วิตกกังวล รำคาญ สงสาร หรือความรู้สึกไม่แน่ใจว่าลูกพิการจริงหรือไม่ล้วนถูกถ่ายทอดไปสู่ลูกทางสีหน้า ท่าทาง อากัปกิริยาที่พ่อแม่แสดงต่อเด็ก เมื่ออายุมากขึ้น เด็กที่บกพร่องทางการได้ยินก็จะยิ่งมีปัญหาทางอารมณ์และจิตใจซับซ้อนขึ้น เมื่อเข้าสู่วัยเรียนก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพของโรงเรียน เด็กอาจจะถูกมองว่าประหลาด ในขณะเดียวกัน เด็กจะรู้สึกว่าด้อยกว่าเด็กปกติทั้งทางด้านความเข้าใจและการใช้ภาษา ตลอดจนด้านวิชาการ
พฤติกรรมต่างๆ ซึ่งเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินแสดงออกมานี้ เป็นพฤติกรรมที่ต่างจากเด็กปกติ และมีผลต่อการพัฒนาด้านต่างๆ ของเด็กด้วย พัฒนาการที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ พัฒนาการทางด้านของอารมณ์ เพราะผลจากการที่หูไม่ดี ทำให้พูดไม่ได้ และขาดภาษาในการสื่อความคิด ความรู้สึก และความต้องการของผู้อื่น เด็กเหล่านี้จึงมีความกดดันและจะแสดงพฤติกรรมบางอย่างที่บ่งถึงการไม่สามารถควบคุมอารมณ์ของตนเอง เช่น โมโห เอาแต่ใจ ก้าวร้าว ไม่ทำตามระเบียบข้อบังคับ เก็บตัว ซึมเศร้า นอกจากนี้ยังมีปัญหาด้านสังคมที่แสดงออกทางพฤติกรรมเช่น การขาดความมั่นใจในตัวเอง จากปัญหาดังกล่าว จึงทำให้เด็กเหล่านี้แสดงพฤติกรรมดังกล่าวที่ไม่เหมาะสม ซึ่งล้วนมาจากสาเหตุที่เด็กไม่เข้าใจความคิด ความรู้สึก และความต้องการของตนเอง
ลักษณะทางจิตวิทยาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีการกล่าวถึงว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน มีลักษณะไปในทางเอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง ขาดความเห็นอกเห็นใจคนอื่น ต้องพึ่งพาอาศัยคนอื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่รู้จักควบคุมอารมณ์ และไม่เข้าใจตัวเองและพัฒนาการทางจิตวิทยาของเด็กมีความล่าช้า ขาดวุฒิภาวะทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมที่พบว่า เด็กเหล่านี้มีปัญหาหลายประการได้แก่ ความไม่มั่นคงทางอารมณ์ มีอาการทางระบบประสาทและมีปัญหาในการปรับตัวมากกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวมิได้มิได้เกิดขึ้นกับเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินทุกคน
พัฒนาการทางด้านสังคมและบุคลิกภาพ
เนื่องจากเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินไม่สามารถสื่อสารกับผู้อื่นได้ด้วยคำพูด จึงทำให้มีปัญหาในการสื่อความหมาย ส่งผลให้เด็กมีพัฒนาการทางสังคมและบุคลิกภาพแตกต่างจากเด็กปกติ และมีปัญหาในการดำรงชีวิตมากกว่าเด็กปกติ กล่าวคือ เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตมาในสังคมด้วยความรู้สึกที่โดดเดี่ยว ชอบแยกตัวออกจากสังคม มีความลำบากในการปรับตัวเข้ากับสังคม และไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น นอกจากนี้ยังมีผู้ศึกษาพบว่า เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มที่จะยึดความคิดเห็นของตนเองเป็นใหญ่ และมีจิตใจอ่อนไหว โลเลอีกด้วย
พัฒนาการทางสติปัญญา
มีผู้ศึกษาพบว่า เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินนั้น โดยเฉลี่ยแล้วมีสติปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติเล็กน้อย และยังพบว่า บางคนมีสติปัญญาสูงกว่าเด็กปกติ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากพัฒนาการทางภาษาของเด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินมักแตกต่างไปจากปกติ เพราะมีความบกพร่องในการรับรู้ด้านภาษา ซึ่งภาษามีผลต่อสติปัญญาของเด็ก จึงทำให้เด็กกลุ่มนี้มีพัฒนาการทางสติปัญญาแตกต่างจากเด็กปกติ ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับระดับความบกพร่องทางการได้ยินของเด็กอีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น: